วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

Green IT : the next burning issue for Thai community

สองทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยของเรา ส่งผลทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน เกิดรูปแบบและโอกาสทางด้านการศึกษาที่หลากหลาย ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม และ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจและบริการให้กับองค์กร
แทบทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information System ) เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของตนเอง ที่ผ่านมาการพัฒนาระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพนั้นนักพัฒนาได้ให้ความสำคัญทางด้านประโยชน์การใช้งาน (Utilibility) เสถียรภาพของระบบ (Reliability) ความปลอดภัยของข้อมูล (Security) และความสามารถการเพิ่มขยายของระบบเท่านั้น (Scalibilty) โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เลย
รายงานการวิจัย EPA แสดงให้เห็นว่า IT นั้นไม่ได้มีเพียงประโยชน์เพียงอย่างเดียวอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่ยังเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ กิจกรรมทางด้าน IT ที่ประกอบไปด้วยการใช้งาน PC, Monitors, Servers, Cabled telecommunication, Wireless telecommunication, Local area network, และ Printer
ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่าร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก๊าซ CO2 นี้เป็นร้อยละ 87 ของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)
ดังนั้นจึงได้มีการนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้งาน IT ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกภายใต้คำนิยามใหม่ที่เรียกว่า Green IT ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์เทคโนโลยีสำหรับปี 2009 นี้จากการจัดอันดับของ Gartner ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางด้าน IT และยังสามารถยืนยันได้จากสถิติของผู้เข้าชมงาน CeBIT 2008 จากทั่วทุกมุมโลกที่ได้ให้ความสนใจกับ Green IT นี้ถึงร้อยละ 53 รวมไปถึงจำนวนของผลลัพธ์นับล้านเว็บเพจที่ได้จากการค้นคืนข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
การผลักดันให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติของ Green IT ให้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นต้องมีการวางแผนและขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับทุกๆ ช่วงของวงจรชีวิต IT ที่ต่างเกี่ยวข้องกันตั้งแต่กระบวนการผลิต การส่งมอบ การใช้งาน จนถึงการกำจัดเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมของ IT ในปัจจุบันให้เป็นแบบ Green IT นั้นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนทั้งที่อยู่องค์กรจากภาครัฐและเอกชน
ผู้เขียนคิดว่าทุกคนมีความรู้และทัศนคติที่ดีกับ Green IT แล้วจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรม Green IT ในอนาคต เนื่องจากมีความสนใจและติดตามในเรื่อง Green IT เป็นการส่วนตัว เมื่อพอมีเวลาจึงได้จัดทำ Blog นี้ขึ้นมาเพื่อเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ Green IT ที่ได้จากการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งหวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับบางคนที่ยังไม่มีความรู้ในเรื่อง Green IT ที่บังเอิญได้ผ่านเข้ามาอ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น