วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

แนวทางปฏิบัติ Green IT

แนวทางปฏิบัติ Greeen IT ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น บริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft และ IBM ที่นำเสนอแนวทางปฏิบัติทางด้าน IT ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของGreen IT หรือบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางด้าน IT อย่าง Gartner, Forrester และ KPMG ที่นำเสนอแนวทางปฏิบัติทางด้านการวางแผน ขั้นตอน การปฏิบัติและการจัดการให้สอดคล้องกับแนวคิด Green IT หรือองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ที่เป็นผู้ผลักดันมาตรฐานและเครื่องมือวัดทางด้าน Green IT และความร่วมมือของรัฐบาลระหว่างประเทศที่นำเสนอนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ Green IT
ถึงแม้ว่าแต่ละองค์กรจะมีบทบาทและความรับผิดชอบทางด้าน IT ที่แตกต่างกัน แต่ก็มีแนวทางปฏิบัติ Green IT ในทิศทางเดียวกันคือ การเสริมสร้างให้ทุกคนตระหนักถึงการประหยัดพลังงานเมื่อใช้งาน IT เลือกซื้อ IT ที่อนุรักษ์พลังงาน เลือกใช้ IT ที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางฮาร์ดแวร์ร่วมกัน รวมศูนย์การจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลไว้ที่เดียวกัน ติดตามเฝ้าดูการใช้พลังงานของอุปกรณ์ IT อย่างต่อเนื่อง ให้มีการใช้งาน IT อย่างเต็มความสามารถ และเมื่อสิ้นอายุการใช้งานของอุปกรณ์ IT แล้วต้องมีการกำจัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นได้ว่าแนวทางปฏิบัติที่กำหนดมานี้ได้ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิต IT
แนวทางปฏิบัติ Green IT สามารถพิจารณาได้หลายมุมมองด้วยกัน ถ้ามองในเชิงของการใช้งานสามารถแบ่งได้ 4 ระดับได้แก่ การใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การใช้งาน IT ในหน่วยงาน การใช้งาน IT ในองค์กร และการใช้งาน IT ระหว่างองค์กร รายละเอียดของแนวทางปฏิบัติของแต่ละระดับสามารถแบ่งได้ตามระดับการใช้งานดังนี้

การใช้งานส่วนบุคคล
เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบ Standalone PC และ Local disk สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Distributed แนวทางปฏิบัติ คือ
1. เลือกใช้ Notebook ที่ ประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากกว่า PC ถึงร้อยละ 90
2. เลือกใช้รุ่นที่เหมาะสมกับการทำงานและมีการรับรองการประหยัดพลังงาน Energy Star 4.0
3. ตั้งโหมดประหยัดพลังงานและปิดเครื่องเมื่อเลิกทำงานหรือเวลาพัก
4. ถ้าต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ควรมอบให้คนที่ต้องการเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่

การใช้งานในหน่วยงาน
เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบ Client/Server และ N-tier DB Server สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Centralized แนวทางปฏิบัติ คือ
1. เลือกใช้เซิร์ฟเวอร์ที่รองรับเทคโนโลยี Virtualization
2. ติดตั้งระบบควบคุมการใช้พลังไฟฟ้าแบบอัตโนมัติในห้องเซิร์ฟเวอร์
3. ใช้ Wireless LAN เพื่อลดการใช้สาย
4. เลือกใช้อุปกรณ์แบบ Multi-function
5. จัดสรรอุปกรณ์ให้เหมาะสม กับการใช้งาน

การใช้งานในองค์กร
เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบ Server, SAN และ WAN/VPN สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Centralized แนวทางปฏิบัติ คือ
1. รวมเซิร์ฟเวอร์ให้เป็นศูนย์ข้อมูล
2. ใช้เซิร์ฟเวอร์แบบ Virtualization
3. กำหนดรูปแบบการจัดการการใช้ พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ภายในศูนย์ข้อมูลที่ PUE~3

การใช้งานระหว่างองค์กร
เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบ Cloud platform และ Cloud storage สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Virtual แนวทางปฏิบัติ คือ
1. สามารถเลือกขอใช้บริการ บางอย่างที่ซับซ้อนจากผู้บริการInternet ภายนอกองค์กรเพื่อลดต้นทุน

ในมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไป สามารถมองได้ในเชิงขององค์ประกอบทางด้าน IT ที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทางด้านเทคโนโลยี ด้านกระบวนการ และด้านการจัดการ รายละเอียดข้อปฏิบัติ Green IT ก็จะเป็นการแนะนำวิธีการเลือกลักษณะขององค์ประกอบที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กร
ขณะที่ในเชิงของบทบาทของบุคลากรในองค์กรที่แบ่งเป็นผู้บริหารซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของการกำหนดนโยบาย และผู้ใช้งานที่เป็นผู้นำเอานโยบายไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติที่เป็นแนวทางสำหรับผู้ผลิตสินค้าและบริการทาง IT ในอุตสาหกรรมอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

To begin with Green IT

การริเริ่มนำเอาแนวคิดหรือแนวทางปฏิบัติของ Green IT มาใช้ในองค์กร ควรเริ่มต้นจากการสร้างแผนเชิงปฏิบัติการของแต่ละองค์กรก่อน ถึงแม้ว่าจะมีเอกสารเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติ Green IT จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถนำเอามาใช้ในองค์กรของเราได้เลยในทันที เนื่องจากแต่ละองค์กรมีเป้าหมาย คุณลักษณะ และสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ยังมีประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการอ้างอิงได้ Forrester ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางด้าน IT ได้นำเสนอขั้นตอนของการสร้างแผนเชิงปฏิบัติการไว้ 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
1. การกำหนดเป้าหมายของการริเริ่ม Green IT ในขั้นตอนนี้แต่ละองค์กรต้องระบุได้ว่าขอบเขตและสิ่งที่จำเป็นต้องมุ่งเน้นคืออะไร ซึ่งจะขึ้นอยู่กับบริบทของการดำเนินธุรกิจ รูปแบบการบริหารงาน และโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ของแต่ละองค์กรนั้นเป็นอย่างไร รายงานวิจัยของ Forrester แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของบริษัทส่วนใหญ่ที่เหมือนกันได้แก่ ลดการใช้พลังงานโดยรวมขององค์กร ปรับปรุงการใช้งานอุปกรณ์ทางด้าน IT ให้เต็มความสามารถ ทำให้การดำเนินกิจกรรมนั้นสอดคล้องกับสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี
2. ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่กำหนดไว้ องค์กรต้องทำการจำแนกกิจกรรมภายในองค์กรซึ่งอาจจะมีบางกิจกรรมที่อยู่ภายใต้แนวทางการปฏิบัติ Green IT อยู่แล้ว โดยเราจะพิจารณากิจกรรมที่ยังไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ถ้ากิจกรรมใดต้องการมาตรวัดเชิงปริมาณเราก็ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ที่อ้างอิงจากเกณฑ์มาตรฐานจากหน่วยงานภายนอก เช่น ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (PUE) หรือ เกณฑ์มาตรฐานในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางด้าน IT เป็นต้น สุดท้ายองค์กรต้องกำหนดบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับกลุ่มคนที่เกี่ยวของกับแนวทางการปฏิบัติ Green IT อีกด้วย
3. เริ่มจากสิ่งที่ง่ายก่อนเพื่อเป็นการทำให้เกิดการตื่นตัวต่อผู้ที่มีส่วนร่วม เช่น การปิดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งาน ตั้งโหมดประหยัดพลังงานให้กับอุปกรณ์ เริ่มต้นการจัดซื้ออุปกรณ์ตามเกณฑ์มาตรฐาน Energy Star 4.0 หรือปรับปรุงระบบระบายอากาศให้กับศูนย์ข้อมูล เป็นต้น
4. นำเอาแผนเชิงปฏิบัติการ Green IT นี้ไปเผยแพร่ให้กับคนในองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้เกิดความเข้าใจในแนวคิดและกิจกรรมอย่างชัดเจน ต้องพยายามให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมมากที่สุดเพื่อให้เขามีความรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีการคิดกิจกรรมเสริมแรงจูงใจในรูปแบบของการแข่งขัน เช่น กำหนดรางวัลสำหรับคนที่คิดสัญลักษณ์ของโครงการ หรือรางวัลสำหรับกลุ่มคนที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม ถ้าเกิดมีคนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนองค์กรควรมีพื้นที่ให้เขาได้เข้ามาร่วมระดมสมองและนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ
แต่แนวทางที่กล่าวมาอาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกองค์กรเนื่องจากบางองค์กรอาจมีคนส่วนใหญ่ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ในกรณีนี้องค์กรต้องใช้ที่ปรึกษาหรือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นอกการจัดทำแผนเชิงปฏิบัติการแล้ว องค์กรต้องจัดทำเครื่องมือสำหรับใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมที่ต้องทันสมัยตลอดเวลาประกอบด้วย สิ่งที่องค์กรคาดหวังไว้เพื่อใช้เป็นมาตรวัด เช่น คุณลักษณะของตัวแทนจำหน่าย คุณลักษณะของอุปกรณ์ หรือค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยสามารถกำหนดขึ้นได้จากเกณฑ์มาตรฐานสากล เมื่อมีบางกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่องค์กรคาดหวังไว้จะต้องเตรียมแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพที่มีความเหมาะสมรองรับไว้ด้วย แต่ในส่วนนี้จะพิจารณาเฉพาะการปรับเปลี่ยนในเชิงองค์ประกอบเท่านั้น แต่ถ้าสิ่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวังนั้นเกิดจากโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมทาง IT แล้ว การแก้ปัญหาต้องอาศัยการเพิ่มทุนซึ่งการตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งในเรื่องความเสี่ยงและความคุ้มทุนในระยะยาว สุดท้ายเมื่อการดำเนินกิจกรรมใดที่ประสบผลสำเร็จหรือเป็นไปตามที่คาดหวัง แนวทางปฏิบัติทาง Green IT นี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการขององค์กรไปโดยปริยาย

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

Green IT vs Green World

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ทำให้เกิดปรากฏการทางธรรมชาติที่ไม่พึงประสงค์ต่อมนุษยชาติ ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และมลภาวะที่เป็นพิษในรูปแบบต่างๆ Green World Organization ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับคนทั่วไป เพื่อป้องกันสาเหตุของการเกิดผลกระทบดังกล่าว กิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นจะมุ่งเน้นไปที่บริบทที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงของแต่ละสังคม แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการเสริมสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทบทุกคนล้วนคุ้นเคยกับแนวทางปฏิบัติของโลกสีเขียวอันได้แก่ การใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัว การคัดแยกขยะ การใช้หลอดประหยัดไฟ หรือการเปิดเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา เป็นต้น อาจจะกล่าวได้ว่า Green IT นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Green World ที่มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในบริบททางด้าน IT ดังนั้นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติจึงไปในทิศทางเดียวกัน คือ 3Rs (Reduce, Reuse และ Recycle) เพียงแต่รายละเอียดบางอย่างอาจจะแตกต่างออกไปโดยมุ่งเน้นที่กิจกรรมทางด้าน IT และบริบทที่เกี่ยวข้อง

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

The Green IT concept

ผลที่ได้จากการค้นหา Green IT ด้วย Google พบว่าในสังคมไทยของเราเริ่มมีการเผยแพร่เรื่องราวของ Green IT บ้างแล้ว ได้มีการบัญญัติคำศัพท์ที่เป็นภาษาไทยว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศสีเขียว" หรือ "เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อม" นอกจากนั้นยังเริ่มมีการดำเนินกิจกรรมทั้งทางภาครัฐ ได้แก่การระดมสมองของนักวิชาการเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ หรือการทำโครงการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนที่เป็นบริษัททางด้าน IT ได้แก่การประชาสัมพันธ์ทางการตลาดเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนเอง
แนวคิดและนิยามที่เป็นสากลของคำว่า Green IT คือ แนวคิดเพื่อการศึกษาแนวทางปฏิบัติในการจัดการการใช้พลังงานสำหรับอุปกรณ์ทางด้าน IT ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมทางด้าน IT โดยแนวทางปฏิบัติทั้งหลายมีตั้งแต่ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้าน IT ที่มีการใช้พลังงานทางไฟฟ้าน้อยที่สุด รูปแบบการจัดการการใช้งานอุปกรณ์ทางด้าน IT มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ตลอดจนความพยายามในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวของกับกิจกรรมทางด้าน IT โดยรายละเอียดของแต่ละแนวทางจะได้นำเสนอในบทความต่อๆ ไป
Simon Mingay นักวิจัยของ Gartner ได้นำเสนอสัดส่วนของการใช้พลังงานของอุปกรณ์ IT ต่างๆ โดยจำแนกออกเป็นการใช้งาน PC และ Monitors 39 เปอร์เซ็นต์ การใช้งาน Servers 23 เปอร์เซ็นต์ การใช้งาน Cabled telecommunication 15 เปอร์เซ็นต์ การใช้งาน Wireless telecommunication 9 เปอร์เซ็นต์ การใช้งาน Local area network 7 เปอร์เซ็นต์ และการใช้งาน Printer 6 เปอร์เซ็นต์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยส่วนใหญ่ได้จับตามองไปที่ Data Center เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของอุปกรณ์ทางด้าน IT และอุปกรณ์สนับสนุนจำนวนมาก ดังนั้นถ้าเราตั้งใจริเริ่มนำเอาแนวคิด Green IT มาใช้ในองค์กรแล้ว ต้องพิจารณาว่าในสภาวะแวดล้อมการทำงานของเรานั้นเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางด้าน IT ใดบ้างเพื่อที่จะได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

Green IT : the next burning issue for Thai community

สองทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยของเรา ส่งผลทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน เกิดรูปแบบและโอกาสทางด้านการศึกษาที่หลากหลาย ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม และ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจและบริการให้กับองค์กร
แทบทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information System ) เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของตนเอง ที่ผ่านมาการพัฒนาระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพนั้นนักพัฒนาได้ให้ความสำคัญทางด้านประโยชน์การใช้งาน (Utilibility) เสถียรภาพของระบบ (Reliability) ความปลอดภัยของข้อมูล (Security) และความสามารถการเพิ่มขยายของระบบเท่านั้น (Scalibilty) โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เลย
รายงานการวิจัย EPA แสดงให้เห็นว่า IT นั้นไม่ได้มีเพียงประโยชน์เพียงอย่างเดียวอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่ยังเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ กิจกรรมทางด้าน IT ที่ประกอบไปด้วยการใช้งาน PC, Monitors, Servers, Cabled telecommunication, Wireless telecommunication, Local area network, และ Printer
ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่าร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก๊าซ CO2 นี้เป็นร้อยละ 87 ของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)
ดังนั้นจึงได้มีการนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้งาน IT ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกภายใต้คำนิยามใหม่ที่เรียกว่า Green IT ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์เทคโนโลยีสำหรับปี 2009 นี้จากการจัดอันดับของ Gartner ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางด้าน IT และยังสามารถยืนยันได้จากสถิติของผู้เข้าชมงาน CeBIT 2008 จากทั่วทุกมุมโลกที่ได้ให้ความสนใจกับ Green IT นี้ถึงร้อยละ 53 รวมไปถึงจำนวนของผลลัพธ์นับล้านเว็บเพจที่ได้จากการค้นคืนข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
การผลักดันให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติของ Green IT ให้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นต้องมีการวางแผนและขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับทุกๆ ช่วงของวงจรชีวิต IT ที่ต่างเกี่ยวข้องกันตั้งแต่กระบวนการผลิต การส่งมอบ การใช้งาน จนถึงการกำจัดเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมของ IT ในปัจจุบันให้เป็นแบบ Green IT นั้นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนทั้งที่อยู่องค์กรจากภาครัฐและเอกชน
ผู้เขียนคิดว่าทุกคนมีความรู้และทัศนคติที่ดีกับ Green IT แล้วจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรม Green IT ในอนาคต เนื่องจากมีความสนใจและติดตามในเรื่อง Green IT เป็นการส่วนตัว เมื่อพอมีเวลาจึงได้จัดทำ Blog นี้ขึ้นมาเพื่อเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ Green IT ที่ได้จากการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งหวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับบางคนที่ยังไม่มีความรู้ในเรื่อง Green IT ที่บังเอิญได้ผ่านเข้ามาอ่าน